Last updated: 29 ก.ย. 2566 | 920 จำนวนผู้เข้าชม |
สมัยผมเป็นเด็กอยู่ประถม ประมาณ ปี 2530 ลุงป้าน้าอาที่บ้าน
หลังจากดำนาเสร็จในช่วง มิถุนายน- กรกฎาคม จะพากันเดินทางเข้า กทม.
บางคน ก็ไปทำงานโรงงานบ้าง เป็นยามบ้าง หาบข้าวเหนียวไข่ปิ้งขายบ้าง
ขับรถแท็กซี่ รับจ้างบ้าง ตามความสามารถของเงินทุนแต่ละคน
.
หลายคนส่งลูกเรียนจนจบปริญญาด้วยการขายของริมถนน
หลายคน เป็นหนี้มากกว่าเดิมเพราะขาดทุน
.
เพื่อหาเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ให้ลูกไปโรงเรียน ค่ากินค่าอยู่ รวมถึงสำหรับเป็นค่าปุ๋ยเคมี
และยาฆ่าแมลง สำหรับนาข้าว รวมถึงพืชผักต่าง ๆ
ทำให้ชาวนาต่างต้องดิ้นรน ต่อสู้เอาตัวรอด
.
.
วันนี้เจอพี่ชายท่านหนึ่ง มาจากอุบลฯ
หาบตะกร้าหวายมาขาย วางขายพัก
ทางขึ้นรถไฟฟ้าปุณณวิถี
.
สอบถามราคา อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง
เพราะรับมาขายต่ออีกทีนึง จากกลุ่มเกษตรกรที่ทำเครื่องจักสาน
ด้วยความที่เข้าใจบริบทของชาวนาด้วยกัน ผมจึงไม่ลังเล
ที่จะช่วยอุดหนุนสินค้าในทันที (กำลังหาเครื่องมือ สำหรับไปออกบูทที่มาบุญครองพอดี)
.
อุดหนุนกันเสร็จ สอบถามสารทุกข์สุกดิบ
ตามประสาชาวนาด้วยกัน พี่เขาได้แต่บ่นให้ฟัง
ปีที่แล้วน้ำท่วม ก็ไม่ได้ข้าวเลยสักเม็ดเดียว
มาเดินขายของ ก็เพราะทำเองไม่เป็นต้องรับต่อมาอีกที
โชคดีที่ไม่ใช่เน่าเสีย อาศัยคนที่ต้องการใช้ของดี
เพราะทำจากหวาย(ราคาสูง)
.
เทศกิจมาไล่ ก็ต้องหอบของหนี
เพราะมาอาศัยรวมกลุ่มขายกับพ่อค้าแม่ค้าริมฟุตบาทคนอื่น
ทำให้ต้องเปลี่ยนทำเลขายไปเรื่อย ๆ (ตามเส้นทางรถไฟฟ้า)
.
พยายามเก็บหอมรอมริบ เพื่อส่งเงินกลับไปให้ลูก
ที่กำลังเรียนอยู่มัธยมปลาย
และเพื่อซื้อปุ๋ยเคมีใส่ในนาข้าว
ไปจนถึงเก็บเงินไว้สำหรับค่าจ้างเกี่ยวข้าว ถ้าน้ำไม่ท่วมอีก
.
.
ผมก็ช่วยได้ตามอัตภาพเช่นเดียวกัน
เนื่องจากมาอบรมที่ กทม. รถเราไม่สามารถใส่ของได้เยอะ
หากใครผ่านไป ผ่านมา อยากได้เครื่องจักสานจากหวายไว้ใช้
ก็ลองอุดหนุนพี่น้องชาวนา ที่ต่อสู้กันบ้างนะครับ
28 ธ.ค. 2566
30 ต.ค. 2567
28 ม.ค. 2564