Last updated: 25 ม.ค. 2564 | 5004 จำนวนผู้เข้าชม |
E-Rice Thai Farmers เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557
จากความคิดของ น.ต. ชนินทร์ คล้ายคลึง (ตท.36)
และ ทีมงานหนุ่มนาข้าว (ตท.39)
.
ที่ตอนนี้มีเครือข่ายเป็นชาวนาในจังหวัดร้อยเอ็ด
ศรีสะเกษ สุรินทร์ และกาฬสินธุ์
พวกเขาไม่ใช่องค์กร หรือหน่วยงานรัฐ
แต่พวกเขาคือ ‘ลูกหลานชาวนา’
ผู้เคยทำงานในเมืองใหญ่
แต่เพราะเห็นปัญหาบนผืนนา
ที่เป็นดั่งสายเลือดหล่อเลี้ยงครอบครัว
.
จึงตัดสินใจกลับมาบ้านเกิด
เพื่อปกป้องรวงข้าวจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ
“พวกเราคือลูกหลานชาวนาที่ทำงานประจำในกรุงเทพฯ
แล้วจะคอยส่งเงินไปให้พ่อแม่ตายายได้ทำนา
แต่ละปีผมจะหมดเงินไปกับตรงนี้เยอะมาก
แต่ผลที่ได้มากลับไม่คุ้ม
อย่างปีหนึ่งส่งกลับ 40,000-50,000 บาท
เพื่อเป็นค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธ์ุ ค่ารถไถ ค่าคนเกี่ยวข้าว
.
แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วเอาข้าวไปขาย
กลับขายได้แค่ 20,000 บาท/ปี มันไม่คุ้มกัน
เลยเกิดความสงสัยว่าต้นเหตุนั้นมาจากอะไร
จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ
แล้วกลับมาทำนาที่บ้านร้อยเอ็ดในปี 54”
หนึ่งในทีมงาน E-Rice Thai Farmers
เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงจริงจัง
.
ก่อนบอก่ต่อว่า เมื่อได้กลับมาทำนา
ปลูกข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ ที่เป็นเกรดข้าวส่งออก
จนถึงฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อออกขาย
หลักราคารับซื้อที่หน้าร้านติดไว้ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม
ซึ่งคิดไว้ว่าเกรดของข้าวทุ่งกุลาร้องไห้จำนวน 2-3 ตัน
ต้องขายได้เงิน 30,000-40,000 บาทซึ่งได้ทุนคืนแน่นอน
แต่พอนำไปขายแล้วรับซื้อจริงๆ
กลับตกลงมาอยู่ที่ 8 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น
.
"ผมรู้สึกว่าเขากำลังหลอกชาวนา
เลยถามไปว่าเป็นเพราะอะไร
คำตอบที่ได้กลับมาคือ
มันมีขั้นตอนการตรวจสอบ
การหักค่าความชื้นต่างๆ
ซึ่งแน่นอนว่าชาวนาไม่มีความรู้เรื่องนี้
.
แต่เมื่อถามหาวิธีการ ขอดูผล หรือค่าการวัด
เจ้าหน้าที่ตรวจข้าวก็ไม่ยอมให้ดู
สุดท้ายเถียงกันไปมาต่อคิวยาว
เขาเลยบอกว่า ให้ได้เต็มที่ 8.50 บาท
ถ้าคุณเอาก็ขนไปให้พนักงานตักลง
แต่ถ้าไม่เอาก็เอารถออกมันเกะกะ
.
พอพูดแบบนี้ผมเลยไม่ขาย
ขนข้าว 3 ตันกลับนา
เอาไปสีที่โรงสีประจำหมู่บ้าน แบ่งไว้กินบ้าง
แล้วประกาศขายข้าวเองผ่านเฟสบุ๊ก
“เมื่อได้ลูกค้ามา ก็แจ้งเขาว่าไม่มีการเก็บมัดจำ
ไม่คิดค่าขนส่ง ผมจะใส่รถตัวเองแล้วขับส่งตามจังหวัดต่างๆ
ก็วิ่งรถตระเวนขายใช้เวลาอยู่ 7 วัน ข้าว 1 ตันถึงจะหมด
แต่มันก็มาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น”
.
นี่คือจุดหักเหครั้งใหญ่ที่ทำให้ E-Rice Thai Farmers
มุ่งมั่นดำเนินการกันอย่างเป็นระบบ เข้มแข็ง และจริงจัง
เพื่อประคับประคองพี่น้องชาวนาให้ไม่ถูกเอาเปรียบ
ด้วยการให้ความรู้ จัดทำระบบแจกจ่าย
จัดทำการเปิดพรีออเดอร์ข้าวจากลูกค้าให้กับชาวนาในกลุ่ม
เพื่อรับประกันว่าราคาข้าวที่ตั้งไว้จะไม่ถูดกดให้ต่ำลง
ทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีฯ ราชมงคลอีสาน
วิทยาเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด
เข้ามาให้ความรู้ด้านการเพิ่มศักยภาพในการทำนา
และการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต
28 ธ.ค. 2566
28 ม.ค. 2564
30 ต.ค. 2567