Last updated: 3 ต.ค. 2567 | 237 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นเรื่องที่ผมอึ้งมานานหลายสิบปี
ที่ชาวนาสมัย 30-40 ปีก่อน
สามารถทำนา ปลูกข้าว
ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ขายราคาถูก ๆ
เพราะกลไกกดราคามีมานานหลายสิบปีแล้ว
แต่สามารถส่งลูก ๆ หลายคน
ให้ได้เรียนหนังสือ ได้รับราชการ
มีหน้าที่การงานมั่นคงต่อกันหลาย gen
.
สมัยเด็กผมเคยไปปลูกมันสำปะหลัง
ด้วยความที่เด็กมาก ตายายก็ให้นั่งใต้ร่มไม้
ดูป้า ๆ น้า ๆ เขาช่วยกันไถ(ด้วยควาย) ยกร่อง
ใช้จอบขุดเพื่อทำหลุมวางดูกมัน(ท่อนมัน)
อีกคนหยอดปุ๋ย อีกคนเดินกลบ
(พ่อแม่เอาไปฝากตายายเลี้ยง เพราะทำงานในอำเภอ)
พอถึงตอนกู้(ขุดขาย)
น่าจะคุยกันที่กิโลละไม่มีกี่สตางค์ด้วยซ้ำ
(แอดมินเกิด 2521 จำความได้น่าจะ 6-7 ขวบ)
ไม่รู้ว่าช่วงนั้น ราคามันราคาข้าวเท่าไร
แต่ที่จำได้คือ ข้าว ผัก ผลไม้ต่าง ๆ
ที่ตายาย ลุงป้าน้าอาปลูก
ไม่มีการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเลย
ปุ๋ยก็ขนขี้วัวขี้ควาย ไปใส่นา
หาใบไม้แห้งมาหมัก มาเทใส่
โฟลิดอน เพิ่งเข้ามาตอนแอดมินอยู่มัธยม
ได้เถียงกันกับตายายว่า
เอามาฉีดผัก ผลไม้
คนปลูกจะตายก่อน
.
สมัยนั้น อยากกินอ้อย ก็หักจากต้น
ใช้ปากฉีกเปลือกกินสด ๆ ได้เลย
อยากกินแตงโม ก็เอามีด เอาช้อน
ผ่า แล้วนั่งกินที่กลางสวน
ภาพจำคือ เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต
ทุกคนจะมีความสุขมาก ๆ
เพราะมาช่วยกันลงแขก
พ่อค้าเอารถมารับที่หน้าสวน
จ่ายเงิน หรือ ขนไปลาน
กลับมา ก็เลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกัน
จับไก่บ้าน มาต้ม มาลาบกิน
เฮฮากัน เตรียมตัวปลูกรอบใหม่
.
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน
ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด
เหลือสิ่งที่เหมือนเดิมคือ
"ชาวนา(รุ่นใหม่) ก็ยังต้องต่อสู้
ดิ้นรนไม่ต่างจากชาวนารุ่นเก่า ๆ"
ที่เพิ่มเติมคือ ความเครียดจากหนี้สิน
ที่มากขึ้นทุก ๆ ปี
.
ทึ่งมาก ๆ ว่าพวกท่านทำได้ยังไง
หมายเหตุ :
ภาพนี้ ถ่ายตอนแอดมินอยู่ ม.ต้น
ราว ๆ ปี 2534-35
(แก้ไข พศ.)
13 ธ.ค. 2567
28 ม.ค. 2564
30 ต.ค. 2567