เป็นชาวนาลำบาก อย่ากลับมาทำนาเลย ตั้งใจเรียนให้ ได้ทำงานดีดี

Last updated: 3 ต.ค. 2567  |  131 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เป็นชาวนาลำบาก อย่ากลับมาทำนาเลย ตั้งใจเรียนให้ ได้ทำงานดีดี

ช่วงแรก ที่สีข้าวมาคัด แพคขายเอง
คุณยายจะติดตามการทำงานตลอด
เพราะแกกลัวว่า"จะถอดใจ"
นึกภาพหลาน อยากเล่นอะไร
ร้องจะเอา จะเล่น
สักพัก ก็เบื่อ เลิกทำเอาง่าย ๆ


.


ตอนที่เริ่มขายข้าวเองก็เช่นกัน
ยายจะพูดกับป้า ๆ น้า ๆ ว่า
"เดี๋ยวมันก็เบื่อ"
(ยายเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กไง)


.


กลายเป็นว่า"ความดื้อ"
หรือจะสโลแกนของพวกเรา(ชาว ตท.)คือ
"ฉิบหายไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้"
ทำให้ไม่ยอมหยุด แม้ว่าจะขาดทุน
ติดต่อกันตั้งแต่ปีแรก มาจนถึงปัจจุบัน


แต่ก็มี เพื่อน พี่ น้อง หลาย ๆ ท่าน
ที่ยังสนับสนุนพวกเราอยู่
ทั้งที่ ๆ โครงนี้น่าจะพับไปนานแล้ว
ยังลากยาวมาสิบปีเต็ม ตั้งแต่ พค.ที่ผ่านมา


.


ยายจะพร่ำสอนตลอด
ในเรื่อง mindset ของคนทำนา เช่น
-ทำให้ดี อย่าให้คนซื้อข้าวเราเขาว่าเอาได้
-จะกรอกข้าว(แพคข้าว) เอาผ้ายางปูพื้นก่อน
อย่าให้ข้าวสัมผัสพื้นสกปรก
-เก็บกาก แกลบออกให้หมด คนกินจะได้ไม่รังเกียจ
ฯลฯ


ทุกครั้งของการทำงาน
ยายจะถามไถ่ ให้คำแนะนำตลอด
อันไหนไม่ถูกตา แกจะทำเองด้วย


เช่น ปีแรก ใช้เขิงร่อนข้าว
ทีมงานเราทำแบบเหยาะแหยะ
เพราะร่อนข้าวทีละเป็นตัน
ต้องสีมาทีละเยอะ เพราะเราเชื่อว่า
จะช่วยลดเวลาในการขนไปสีทีละน้อย


ยายแกเห็น ทนไม่ไหว
ก็ลงมือทำเองให้ดูเลย
เดือดร้อน ๆ ลูก(ป้า น้า)
มาบ่นให้ผม ที่ใช้งานยายอีก ซะงั้น


.


จากภาพ ยายแกถามเรื่อง
ตอนสีข้าว เอาไปสีโรงสีแบบไหน
คนสีข้าวเขาใจดีไหม


เพราะสมัยก่อน โรงสีชุมชน จะคิดค่าสีข้าว
ด้วยการเอากระป๋องนมตรามะลิ
ตักค่าสีข้าว กระสอบละ 1 กระป๋อง


บางโรงสีจะเอา 2 กระป๋อง
บางโรงสี เห็นข้าวเราน้อย ก็เอานิดเดียว


จนมีคำพูดติดปากกันว่า
"ไม่มีนา แต่มีโรงสี
มีข้าวกินตลอดปี"


สมัยก่อน โรงสีเป็นเครื่องดีเซล
เหมือนเครื่องรถไถนาเดินตาม


ตอนแอดมินเป็นเด็ก จะชอบไปเล่น
ที่โรงสีหน้าวัด
เพราะได้เห็นชาวบ้านมาต่อคิวสีข้าว
ได้เห็นผู้ใหญ่คุยกันเรื่องต่าง ๆ


ชอบที่สุดคือ ดูผู้ใหญ่นั่งเล่นหมากฮอส
แต่ก็นาน ๆ จะมีโอกาสเห็นสักที


เพราะเวลาว่างไม่ค่อยตรงกัน
(โรงสีหน้าวัดบ้านดงสวนผึ้ง
เจ้าของเป็นคุณตาใจดีชื่อ ตา)


.


จากภาพ(เข้าเรื่อง)
ยายแกอยากเห็นโรงสีข้าว
ว่าเหมือนสมัยแกสีหรือเปล่า


ผมเลยถ่ายทั้งภาพ ทั้งคลิบ
เอามาให้แกดู แกก็นั่งดูเพลินเลย


พึมพำว่า เขาพัฒนากว่าสมัยแกเยอะ
(ยายต้องเห็นโรงสีแบบอุตสาหกรรมก่อน
จะว้าวมากกว่าเดิมอีก)


ที่วางข้าง ๆ ยาย
คือถุงขนมคุกกี้
ที่ผมเอามาใช้แพคข้าว
แล้วเอาแม็กเย็บกระดาษเย็บ


นั่นละบรรจุภัณฑ์ในปีแรก
ที่เราคิดว่าดีสุด หาได้ง่ายสุด
ของคนเริ่มต้นขายข้าวเอง
(โดนลูกค้าด่ายับตั้งแต่ถุงแรก)


.


ภาพนี้ผ่านมาสิบปีแล้ว
ไม่มีวันไหนที่ผมจะไม่คิดถึงยายเลย


"เป็นชาวนา มันลำบาก อย่ามาทำนาเลย "
-คุณยายสุนทร์ แก้วโพนงาม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้